คอนกรีต คือส่วนผสมของมวลรวมหลายอย่างมาผสมรวมกัน ประกอบด้วยวัตถุดิบหลัก คือ ปูนซีเมนต์ เมื่อรวมตัวกับน้ำ ทำปฎิกริยาเคมี จนแข็งตัวแล้ว จะมีความสามารถในการรับแรง หรือรับกำลังได้ นิยมใช้ในงานก่อสร้าง ที่มีเหล็กเสริมร่วมด้วยจะทำให้โครงสร้างมีความแข็งแรงอย่างมาก ตัวคอนกรีตเองมีด้วยกันอยู่ 2 สถานะ คือ คอนกรีตสด และคอนกรีตที่แข็งตัว
คุณสมบัติที่ต้องการของคอนกรีตสด และคอนกรีตที่แข็งตัวแล้ว
คอนกรีตสด
คุณสมบัติของคอนกรีตสดที่เราสนใจคือ ความสามารถในการเทได้ ไหลได้ (workability) จะทำให้การทำงานมีความสะดวก และทำให้คอนกรีตไหลเข้าเต็มแบบหล่อ ได้เต็มไม่มีช่องว่าง คุณสมบัติอีกประการคือ การอยู่ตัว (soundness) การที่คอนกรีตไหลโดยไม่แยกตัว สามารถไหลเข้าแบบหล่อได้ โดยที่น้ำ หินทรายที่ผสมเป็นเนื้อคอนกรีต ไม่แยกตัวออกจากกัน
คอนกรีตที่แข็งตัวแล้ว
คุณสมบัติของคอนกรีตที่แข็งตัวมีหลายอย่างที่ต้องการ ที่สำคัญสุดคือความแข็งแรงในการรับน้ำหนัก (Strength) สามารถรับน้ำหนักได้ตามที่วิศวกรออกแบบ
ความทนทาน (Durability) ทนต่อการกัดกร่อน ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น โครงสร้างคอนกรีตที่อยู่ชายฝั่งทะเล จะต้องคำนึงถึงความทนทานต่อการกัดกร่อนทางเคมี และทนทานต่อสภาวะอากาศที่แปรปรวน แรงลม การกัดเซาะของน้ำทะเล เป็นต้น
วัสดุที่ใช้ผสมเป็นคอนกรีต ประกอบไปด้วย ปูนซีเมนต์ เถ้าลอย หิน ทราย น้ำ และน้ำยาผสมเพิ่ม (บางครั้งการคิดคิวคอนกรีตจะคิดปริมาตรฟองอากาศร่วมด้วยประมาณ 1%) อาจมีวัสดุผสมเพิ่มอย่างอื่นเพื่อเพิ่มคุณสมบัติของคอนกรีต หรือผสมเพื่อช่วยลดต้นทุน
การวัดความแข็งแรง คอนกรีตเมื่อแข็งตัวแล้วจะมีคุณสมบัติในการรับกำลัง ซึ่งการรับกำลังเป็นตัวชี้วัดความสามารถของคอนกรีตที่ออกแบบนั้น ว่ามีความแข็งแรงขนาดไหน จะมีการเก็บตัวอย่างเป็นก้อนคอนกรีตขนาด 15x15x15 ซม. เข้าไปทดสอบกดว่ามีกำลังตามที่ออกแบบหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น วิศวกรออกแบบส่วนผสมคอนกรีตให้สามารถรับน้ำหนักรถยนต์ได้ คอนกรีตที่ออกแบบนั้นก็นำมาเทเป็นพื้นโรงจอดรถให้รถสามารถเข้ามาจอดได้ ส่วนใหญ่ในบ้านเราจะใช้หน่วยกำลังรับแรงเป็นระบบเมตริก มีหน่วยเป็น กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร ตัวย่อ กก./ตร.ซม2 หรือ ksc และมีการเก็บตัวอย่างก้อนคอนกรีตตามที่กล่าวมาข้างต้น ไปทดสอบว่าเป็นไปตามที่ออกแบบหรือไม่
การประยุกต์ และการนำไปใช้งาน
การใช้งานคอนกรีตต้องคำนึงถึงสถานะของทั้งคอนกรีตที่ยังไม่แข็งตัว หรือคอนกรีตสด และคอนกรีตที่แข็งตัวแล้ว วิศวกรมักจะคำนึงถึงการใช้งานคอนกรีตสดเรื่อง ความสามารถในการไหลตัวได้ดี ระยะเวลาที่ยังอยู่ในสภาพที่ไหลตัวได้นานในการทำงาน และความสามารถในการขนส่ง ลำเลียงคอนกรีตสด ที่จะทำให้คอนกรีตไม่แยกกัน ส่วนคอนกรีตที่แข็งตัวแล้วจะสามารถรับกำลังได้ วิศวกรจะใช้การออกแบบสัดส่วนผสมให้เหมาะกับโครงสร้าง หรืองานที่จะต้องใช้คอนกรีตเท ข้อดีของคอนกรีตคือ สามารถไหล และหล่อเข้าแบบเป็นรูปทรงต่างๆ ตามที่ออกแบบได้ คอนกรีตที่เห็นอยู่รอบตัวมีอยู่มากมาย เช่น อาคารบ้านเรือน รั้ว กำแพง ตึก สะพาน ถนนคอนกรีต พื้นจอดรถ ท่อคอนกรีตส่งน้ำ รางระบายน้ำ เขื่อน เป็นต้น เพราะสามารถออกแบบให้รับกำลังตามการใช้งานได้นั่นเอง
06 ตุลาคม 2567
ผู้ชม 1530 ครั้ง